ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
พลังงาน / สิ่งแวดล้อม ย้อนกลับ
กอนช. เร่งมือตามแผนบริหารจัดการน้ำท่วมแม่น้ำยม ป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนเมืองสุโขทัย
25 ส.ค. 2563

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ มอบหมายทุกหน่วยปฏิบัติดำเนินการตามแผนบริหารจัดการน้ำ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมแม่น้ำยมจากฝนตกหนักด้วยอิทธิพลร่องมรสุมกำลังแรง ป้องกันน้ำหลากเข้าชุมชนเมือง-พื้นที่เศรษฐกิจ จ.สุโขทัย เผยฝนตกหนักส่งผลดีทำให้น้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักสำหรับแล้งหน้า พร้อมยืนยันขอประชาชนมั่นใจน้ำจากตอนบนไม่ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 

 นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักในระหว่างวันที่ 21-23 ส.ค. ที่ผ่านมา ด้วยอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งพัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบนและประเทศไทย ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำน่านและแม่น้ำยมเพิ่มสูงขึ้น และเกิดน้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำน่าน อ.เวียงสา จ.น่าน แม่น้ำยม อ.เมือง จ.แพร่ และแม่น้ำยม
อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย นั้น ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในแม่น้ำน่านได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ในส่วนของสถานการณ์แม่น้ำยม ขณะนี้มวลน้ำสูงสุดได้ไหลผ่าน จ.แพร่แล้ว และกำลังไหลเข้าสู่ จ.สุโขทัย เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ในเขต อ.ศรีสัชนาลัย อ.สวรรคโลก อ.ศรีสำโรง และ อ.เมือง โดยจากการติดตาม พบว่า สถานี Y.14A อ.ศรีสัชนาลัย
จ.สุโขทัย ปริมาณน้ำ 1483 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำสูงกว่าระดับตลิ่ง 1.13 ม. สถานี Y.3A อ.สุวรรคโลก เหนือประตูระบายน้ำแม่น้ำยม (บ้านหาดสะพานจันทร์) ปริมาณน้ำ 1,098 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำสูงกว่าระดับตลิ่ง 1.14 ม. และสถานี Y4 อ.เมือง จ.สุโขทัย ปริมาณน้ำ 394.50 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำยังต่ำกว่าระดับตลิ่งอยู่ 0.63 ม.

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันสถานการณ์น้ำหลากไม่ให้กระทบถึงชุมชนเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจของ จ.สุโขทัย กอนช. จึงได้มอบหมายให้หน่วยงานปฏิบัติภายใต้คณะทำงาน เร่งดำเนินการตามแผนการบริหารจัดการน้ำแม่น้ำยม ซึ่งเป็นการตัดยอดน้ำก่อนเข้าเมืองสุโขทัย ดังนี้ 1) ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่าน ปตร.หาดสะพานจันทร์ ในอัตราสูงสุดไม่เกิน 800 ลบ.ม./วินาที 2) ผันน้ำเข้าคลองผันน้ำสวรรคโลก-พิชัย (ยม-น่าน) ผ่านปตร.หกบาทในอัตรา 350 ลบ.ม./วินาที 3) ผันน้ำผ่านปตร.น้ำโจน 30 ลบ.ม./วินาที 4) ผันน้ำลงแม่น้ำน่านผ่านประตูระบายน้ำยม-น่านในอัตรา 110 ลบ.ม./วินาที 5) ผันน้ำลงแม่น้ำยมสายเก่า ผ่านปตร.ยมเก่า ในอัตรา 240 ลบ.ม./วินาที และผันน้ำเข้าคลองเล็กฝั่งซ้าย-ขวา ในอัตราสูงสุดรวมไม่เกิน 160 ลบ.ม./วินาที 6) เพื่อควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านสถานี Y4 อ.เมือง จ.สุโขทัย ในอัตราสูงสุดไม่เกิน 550 ลบ.ม./วินาที 7) พิจารณาพร่องน้ำแก้มลิงทุ่งทะเลหลวง เพื่อตัดยอดน้ำก่อนเข้าตัวเมืองลงท้าย ปตร.ยางซ้าย ปริมาณไม่เกิน 468 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบันไม่มีการระบายน้ำออกจากทุ่งทะเลหลวง 8) ปิดการส่งน้ำจากโครงการท่อทองแดงที่ส่งน้ำไป อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย  9)ผันน้ำเข้าไปเก็บในลำน้ำสาขาในพื้นที่ทุ่งบางระกำ คิดเป็นปริมาณน้ำประมาณ 100 ล้าน ลบ.ม.  พร้อมกันนี้ ต้องเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ฝนและการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าช่วงวันที่ 24-27 ส.ค. พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจะมีปริมาณฝนลดลง และหลังจากนั้นปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม จากการประเมินปริมาณน้ำไหลเข้าสะสมในช่วง 7 วันที่ผ่านมา พบว่าสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมาได้ส่งผลดีทำให้มีน้ำไหลเข้าเก็บกักในเขื่อนไว้สำหรับฤดูแล้งหน้าเพิ่มมากขึ้น อาทิ เขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำไหลเข้า 680 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนภูมิพล น้ำไหลเข้า 95 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนวชิราลงกรณ น้ำไหลเข้า 84 ล้าน ลบ.ม. ส่วนการคาดการณ์ปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าในอีก 3 วันจากนี้ไป ที่เขื่อนสิริกิติ์คาดการณ์จะมีน้ำไหลเข้าเพิ่มอีก 480 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนภูมิพล คาดการณ์มีน้ำไหลเข้า 81 ล้าน ลบ.ม. และที่เขื่อนวชิราลงกรณ คาดการณ์น้ำไหลเข้า 139 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ทางตอนล่างซึ่งกังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำจากตอนบนไหลหลากเข้าท่วม กอนช. จึงได้ประเมินสถานการณ์น้ำ ณ สถานี C2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ พบว่า ขณะนี้มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 182 ลบ.ม./วินาที จากความจุลำน้ำ 3,500 ลบ.ม./วินาที ซึ่งยังสามารถรับปริมาณน้ำได้อีกกว่า 3,300 ลบ.ม./วินาที และมวลน้ำหลากแม่น้ำยมจะไหลเข้าสู่ทุ่งรับน้ำและพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งถัดไป เพราะฉะนั้นขอให้ประชาชนมั่นใจว่าปริมาณน้ำจะไม่ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาให้เพิ่มสูงขึ้นจนถึงระดับของการเกิดอุทกภัย และ กอนช. จะบริหารจัดการน้ำตามแผนอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในทุกพื้นที่ต่อไป

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...