ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
การเมือง / การปกครอง ย้อนกลับ
กมธ. เห็นพ้อง แก้บทบัญญัติวิธีแก้รัฐธรรมนูญ ตาม ม.256 เปิดทางตั้ง ส.ส.ร. ยกร่างใหม่
02 ส.ค. 2563

กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ เห็นตรงกัน ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เปิดทางตั้ง ส.ส.ร. ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เตรียมส่งรายงานความเห็นต่อสภาภายในเดือน ส.ค. ส่วนจะดำเนินการอย่างไรต่อไปขึ้นอยู่กับรัฐบาล

31 ก.ค. 2563 สื่อมวลชนหลายสำนักรายงานตรงกันว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 (กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ) พร้อมคณะ แถลงภายหลังการประชุมว่า กมธ. ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิและมีความเป็นเจ้าของมากขึ้น โดยมีหลายเรื่องที่จะต้องแก้ไข เพื่อให้เกิดการปฏิรูปบ้านเมืองและระบบกฎหมาย

ประธาน กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาในมาตรา 256 แล้ว เห็นว่ามีหลักเกณฑ์ในมาตรานี้หลายข้อที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงเห็นพ้องว่า ควรต้องมีการแก้ไขเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น และมีความเห็นตรงกันว่าควรต้องมีการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งอาจมีการเสนอตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยคณะกรรมาธิการจะรวบรวมความเห็นทั้งหมดสรุปเป็นรายงานภายในวันที่ 27-28 ส.ค. 2563 และส่งรายงานเพิ่มเติมภายในวันที่ 31 ส.ค. นี้ ก่อนส่งให้สภาพิจารณา ส่วนการดำเนินการขึ้นอยู่กับสภาและรัฐบาล

"มาตรา 256 เป็นส่วนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของเนื้อหารัฐธรรมนูญในปัจจุบัน หากยังเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด คณะกรรมาธิการเห็นว่าทำให้การแก้ไขในหลายเรื่องลำบาก ก็คิดว่าควรแก้ไขมาตรานี้ก่อน ซึ่งนับแต่กรรมาธิการพิจารณามา ตั้งแต่มาตราต้นๆ ก็เห็นว่าควรจะแก้ไขทุกหมวดเพื่อให้เกิดการปฏิรูปบ้านเมือง และมีความเห็นตรงกันว่านอกจากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมาตรา 256 แล้วหากเป็นไปได้ควรต้องมีการยกร่างใหม่ทั้งฉบับซึ่งอาจต้องมีการเสนอตั้ง ส.ส.ร. ซึ่งสุดแล้วแต่รัฐบาลที่จะพิจารณาดำเนินการต่อไป หากเป็นไปได้ก็จะใส่เรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเข้าไปด้วย และ ถือว่าวันนี้ได้ตอบข้อเรียกร้องของน้องๆ นักศึกษาไปแล้ว เพราะคณะกรรมาธิการไม่เคยนิ่งนอนใจนำข้อเสนอต่างๆมาพิจารณาประกอบและเรื่องมาตรา 256 ก็เป็นส่วนหนึ่งอยู่แล้วซึ่งก็ยืนยันว่าทำให้ทุกเรื่องและทำตามความเห็นของคนส่วนใหญ่ไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาแต่รวมถึงประชาชนทั่วไปและองค์กรอื่นๆด้วย" พีระพันธุ์ กล่าว

ด้านนายโภคิน พลกุล รองประธาน กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ กล่าวว่า ขณะนี้ นักศึกษา ประชาชนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญไปในทางที่ดีขึ้น จึงเห็นพ้องกันว่าหากแก้ในมาตรา 256 ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำให้การแก้ไขไม่ยุ่งยาก และเพิ่มหมวดว่าด้วยการให้มี ส.ส.ร. ขึ้นมา ทำนองเดียวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2534 จนนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 จึงเห็นควรให้คณะกรรมาธิการที่มาจากทุกพรรคร่วมกันพิจารณาในประเด็นนี้ หากทุกพรรคและ ส.ว. เห็นพ้องด้วย จะใช้เวลาประมาณ 5 เดือน น่าจะได้ ส.ส.ร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 390 วัน โดยรวมรวมน่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปี 6 เดือนก็จะเสร็จเรียบร้อย เห็นทางออกของประเทศว่าในอนาคตจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างโดยประชาชนเห็นชอบโดยประชาชน

สำหรับรูปแบบของ ส.ส.ร. นั้น นายโภคิน กล่าวว่า ตอนสมัยยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 40 ให้ผู้ที่สนใจสมัครและเลือกเข้ามากันเองแล้วให้รัฐสภาเลือก และรัฐสภาเลือกนักวิชาการมาอีกส่วนหนึ่ง เข้าสู่รัฐสภา ส่วนร่างที่ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญฯ เสนอ ให้เลือกคนมาเป็น ส.ส.ร. 200 คน เป็นตัวแทนอย่างน้อยจังหวัดละ 1 คน ถ้าจังหวัดใหญ่ก็มีได้หลายคน ซึ่งไม่มีใครทราบว่าบุคคลเหล่านี้จะเข้ามาแก้ไขอย่างไรและไม่มีใครเข้าไปแทรกแซงอะไรได้ เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปโดยเสรีและเป็นธรรม

ทั้งนี้ ไอลอว์เคยอธิบายกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ไว้ว่า ในรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มีทั้งหมดเพียงสองมาตราคือ มาตรา 255 มาตรา 256

มาตรา 255 กำหนดเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขได้โดยเด็ดขาด คือ การแก้ไขที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ซึ่งสอดคล้องไปกับมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญที่บอกว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาญาจักรอันหนึ่งเดียว จะแบ่งแยกมิได้” ส่วนมาตรา 256 กำหนดกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญไว้ว่า ผู้ที่สามารถยื่นญัตติหรือริเริ่มขอแก้รัฐธรรมนูญได้ต้องเป็น 1. คณะรัฐมนตรี 2. ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 (100 คน ขึ้นไป) 3. ส.ส.+ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของทั้งสองสภา (ส.ส.+ ส.ว. 150 คนขึ้นไป) 4. ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน

ส่วนญัตติแก้ไขเพิ่มต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภา และให้รัฐสภาพิจารณา 3 วาระ ได้แก่ วาระแรก ขั้นรับหลักการ ต้องได้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา และกำหนดเงื่อนไขพิเศษให้ในจำนวนนี้ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หมายความว่า ส.ส.+ส.ว. ต้องได้เสียงไม่น้อยกว่า 375 เสียงและในจำนวนนั้นต้องเป็น ส.ว. ไม่น้อยกว่า 84 เสียง

วาระที่สอง เป็นขั้นพิจารณาเรียงรายมาตรา ให้ถือเสียงข้างมาก คือ ส.ส. หรือ ส.ว.ก็ได้รวมกันให้ได้ 375 เสียงขึ้นไป แต่หากเป็นการแก้ไขที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนประชาชนเสนอความคิดเห็นด้วย จากนั้นรอ 15 วัน จึงเข้าวาระสาม

วาระที่สาม เป็นขั้นสุดท้าย ต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินครึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา คือ ส.ส.+ส.ว. ต้องได้ไม่น้อยกว่า 375 เสียง แต่มีเงื่อนไขพิเศษกำหนดให้ต้องมี ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี  ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...