ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
เกษตรนำไทย ย้อนกลับ
รัฐมนตรีเกษตรฯ ดันไทยสู่มหาอำนาจจิ้งหรีดโลก
21 ก.ค. 2563

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรฯ รุกโอกาสทอง หนุนไทยเป็นมหาอำนาจจิ้งหรีดโลก มอบหมายทุกหน่วยบูรณาการ ยกระดับฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดให้ได้มาตรฐาน สร้างรายได้สู่มือเกษตรกรไทย ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ในฐานะครัวโลก ด้าน สศก. สนองนโยบาย เดินหน้าศักยภาพการผลิต ตามนโยบายเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด พร้อมนำศาสตร์พระราชา ดึง Big Data ขับเคลื่อนในยุค New Normal

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. ได้ร่วมเสวนาในการประชุมวิชาการ “อุตสาหกรรมอาหารแห่งอาคต : อนาคตของอีสาน” ครั้งที่ 1 ประจำปี 2563 จิ้งหรีดอีสานสู่อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต พร้อมด้วยผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และ กรมปศุสัตว์ ณ โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการฯ ได้มีนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดให้แก่เกษตรกรเพื่อสร้างรายได้ โดยได้มอบหมายหน่วยงานในสังกัด ส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในผลผลิตให้ผู้บริโภค เนื่องจากปัจจุบันทั่วโลกได้หันมาบริโภคจิ้งหรีดมากขึ้น ตลาดส่งออกไทยไปต่างประเทศได้รับความนิยมและขยายตัวอย่างรวดเร็วเติบโตถึงร้อยละ 23 ต่อปี โดยเฉพาะ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และ จีน ประกอบกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ส่งเสริมให้คนทั่วโลก หันมาบริโภคกัน เพราะเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี อีกทั้งมีราคาถูก และหาได้ง่ายในท้องถิ่น และสามารถนำมาผลิตหรือแปรรูปได้หลากหลาย ทั้งจิ้งหรีดสด ทอด แช่แข็ง คั่วกรอบ หรือ บรรจุกระป๋อง

กระทรวงเกษตรฯ มีเป้าหมายขยายพื้นที่ในการผลิตจิ้งหรีดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือภายใต้ “โครงการเกษตรฐานชีวภาพแมลงเศรษฐกิจใหม่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” และคาดว่าจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (GRP) เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบัน เกษตรกรมีการรวมตัวเป็นกลุ่มแปลงใหญ่เพาะเลี้ยงจิ้งหรีด นิยมสายพันธุ์ทองคำ ทองแดง และสะดิ้ง แหล่งสำคัญที่จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ นครพนม บุรีรัมย์ และมหาสารคาม ซึ่งในปี 2561 มีการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดทั่วประเทศกว่า 20,000 ฟาร์ม กำลังการผลิตกว่า 700 ตัน/ปี รวมมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท/ปี เกษตรกรมีต้นทุนการเลี้ยงเฉลี่ย 41 บาท/กิโลกรัม ใช้เวลาเลี้ยง 45 -50 วัน/รุ่น (1 ปี ได้ 6 รุ่น) ราคาขายเฉลี่ย 80 บาท/กิโลกรัม สร้างรายได้สุทธิ (กำไร) 163,464 บาท/ปี

การขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีด สศก. ได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแนวทาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ศึกษาและจัดทำยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมจิ้งหรีด ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สู่การส่งเสริมและพัฒนาเกษตรฐานชีวภาพแมลงเศรษฐกิจใหม่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วน ส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างรายได้ร่วมกับการทำเกษตรผสมผสาน ตามแนวทางศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พัฒนาเครือข่ายผู้เลี้ยงจิ้งหรีด และ Young Smart Farmer ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมแมลงเศรษฐกิจครบวงจร ทั้งนี้ การเลี้ยงจิ้งหรีดนั้น ทำได้ง่ายแถมยังเกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อม เพราะนอกจากเกษตรกรสามารถเก็บไว้บริโภคเองได้แล้ว ยังสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ และสู่การส่งออกเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารไทยในฐานะครัวของโลกอีกด้วย

“สศก. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่มีฐานข้อมูลด้านเศรษฐกิจการเกษตร เรามีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงาน ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้ง 22 หน่วยงาน และกระทรวงภายนอกเพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ Big Data ของศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (NABC) เชื่อมโยงข้อมูลด้านการผลิต การตลาด เพื่อการบริหารจัดการ โดยใช้ตลาดนำการผลิต หรือ demand driven โดยเฉพาะตลาด Premium และตลาดเฉพาะ หรือ Niche Market ดังนั้น จึงมีความพร้อมที่จะให้บริการ ให้ข้อมูลในด้านต่างๆ ทั้งการปลูกพืช การเพาะเลี้ยงสัตว์และแมลงเศรษฐกิจ รวมทั้งข้อมูลการผลิตและการตลาดเพื่อร่วมสนับสนุนและเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรในยุค New Normal ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาที่ยั่งยืน” เลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้าย

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...