ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
วัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.)
09 ก.ค. 2563

จากผู้พิพากษาสู่การปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

       หลายปีมานี้ จนกระทั่งถึงปัจจุบันและคงจะต่อเนื่องไปถึงอนาคตด้วย ที่ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญต่อคำว่า “สิทธิมนุษยชน” เป็นอย่างมาก เพราะได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญทั้งต่อการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หลายประเทศหรืออาจทั่วโลกแล้วก็ได้ มีการจัดตั้งองค์กรเข้ามาดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชนขึ้นโดยเฉพราะ เฉกเช่นเดียวกับประเทศไทยที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม.ถูกบัญญัติให้มีขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2540โดยมีสถานะเป็นองค์กรอิสระ

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการชุดแรกของ กสม. มาเกิดขึ้นในปี 2544 เนื่องจากขั้นตอนของการตรากฎหมาย โดยชุดแรก ได้ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริกเข้ามานั่งเป็นประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 44- 24 มิ.ย.52 และชุดที่ 2ได้ศาสตราจารย์อมรา พงศาพิชญ์เข้ามาทำหน้าที่ ตั้งแต่ 25 มิ.ย.52-19 พ.ย. 58 ส่วนชุดที่ 3 ที่เป็นชุดปัจจุบัน ได้ วัส ติงสมิตร อดีตผู้พิพากษา เข้ามานั่งทำหน้าที่ เมื่อวันที่ 20 พ.ย.58-ปัจจุบันวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี

แม้บทบบาทและการทำหน้าที่ของ กสม.จะมีจุดมุ่งหวังให้เป็นองค์กรอิสระ ทำหน้าที่ส่งเสริม คุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนและปกป้องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ แต่ในยุคแต่ละสมัยที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันออกไป ตามแรงกดดันทางการเมือง โดยเฉพาะเมื่อเกิดการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง ในช่วงเวลาที่ผ่านมา

สำหรับ วัส ติงสมิตรประธาน กสม. คนล่าสุด กล่าวได้ว่า การเข้ารับตำแหน่งมีปัญหาท้าทายรออยู่ในทันที เมื่อสถานะด้านสิทธิมนุษยชนของไทย ที่เคยได้รับสถานะ A ตั้งแต่ปี 2547-2558 ถูกลดสถานะเป็น B เมื่อต้นปี 2559 ซึ่งไม่ใช่งานง่ายนัก ล่าสุดก็ยังมีเรื่องของกรณีคนไทยที่ลี้ภัยทางการเมืองถูกอุ้มหายในประเทศเพื่อนบ้าน ถูกเรียกร้องให้กสม.เข้ามาคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และที่ฮือฮายิ่งขึ้นไปอีกเมื่อประธาน กสม.คนนี้ ออกมาให้ความเห็นต่อกรณี การแต่งตั้งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจรติแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ที่มาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ในยุคที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งเข้ามานั้น มีลักษณะต้องห้าม

อปท.นิวส์ เชิญเป็นแขก ฉบับนี้ จึงขอนำท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับประธาน กสม. วัส ติงสมิตร ซึ่งก็ได้รับเกียรติให้เข้าร่วมพูดคุยด้วย โดยคุณวัส เริ่มเล่าถึงเรื่องราวความเป็นมาก่อนที่จะเข้ามารับหน้าที่เป็นประธาน กสม.ว่าตัวเองนั้นจบการศึกษามาทางด้านกฎหมายโดยตรง ตังแต่ชั้นปริญญาตรี ปริญญาโทและประกาศนียบัตรทางกฎหมาย โดยอาชีพหลักที่ทำมา 35ปีคือเป็นผู้พิพากษาศาลยุติธรรม เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ซึ่งการเกษียณอายุราชการของข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมรวมถึงศาลอื่นๆคือที่อายุ 70 ปี

“ตอนนั้นที่รับอาสามาทำงานกรรมการสิทธิฯนี้ก็ยังอายุไม่ครบ 70 ปี แต่เห็นว่ายังทำได้และต้องการทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนในด้านนี้ได้อยู่ก็เลยขันอาสาเข้ามาทำหน้าที่ในส่วนตรงนี้ โดยได้ลาออกจากงานเดิม ซึ่งในระหว่างที่ทำงานเป็นผู้พิพากษาศาลยุติธรรมนี้ก็ได้ทำงานพิเศษด้วยในเรื่องของการสอนกฎหมายในมหาวิทยาลัยหลายแห่งรวมถึงยังได้เป็นวิทยากรในการให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับกฎหมายมาโดยตลอดจนเข้ามาสู่การทำหน้าที่เป็นกรรมการสิทธิฯเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ปี2558 จนถึงเวลานี้ก็เกือบจะ 5 ปีแล้วกับการทำหน้าที่นี้”

ประธาน กสม.เล่าใฟ้ฟังด้วยว่าทำงานที่ศาลยุติธรรมก็เป็นเวลานานพอสมควร แล้วในระบบศาลยุติธรรมเองก็มีผู้พิพากษาที่มีคุณภาพจำนวนมาก การทำงานก็ค่อนข้างอยู่ตัวแล้ว ซึ่งมองว่าถ้าไม่ได้ทำงานอยู่ในศาลยุติธรรมแล้วผู้พิพากษาคนอื่นๆก็สามารถทำหน้าที่ต่อได้หรืออาจจะทำหน้าที่ได้ดีกว่าตนด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม เมื่อลาออกมาและเข้ามาทำหน้าที่ประธาน กสม.นี้ก็ต้องยอมรับว่าไม่เคยปรากฏว่ามีผู้พิพากษาเข้ามาทำงานในด้านนี้มาก่อนเลย โดยในอดีตก็อาจจะมีนักกฎหมายเข้าทำอยู่บ้าง และยิ่งพูดถึงในส่วนของประธาน กสม.เองยิ่งไม่เคยมีเพราะที่ผ่านมาประธาน กสม.ก็มีพื้นฐานมาจากทางรัฐศาสตร์ด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งตัวเขาถือเป็นคนแรกของประธาน กสม.ที่มีพื้นฐานมาจากทางด้านกฎหมายและเป็นผู้พิพากษาเก่า

“บางประเทศเขากำหนดไว้เลยว่าประธานกรรมการสิทธิฯของประเทศนั้นๆต้องเป็นผู้พิพากษาเก่า เพราะเห็นว่าการที่จะทำหน้าที่ในส่วนเรื่องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแล้วไม่ได้เอามาตรฐานของศาลเข้ามาประกอบการทำงานก็คงเป็นเรื่องยากในการทำงาน” คุณวัส กล่าว

ประธาน กสม.เล่าต่อว่าการเข้ามาทำหน้าที่นี้ได้ปฎิรูปด้วยการทำงานทั้งคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนควบคู่กันไปทั้ง2 ด้านไปพร้อมๆกัน รวมทั้งปรับปรุงโครงสร้างของสำนักงาน กำหนดให้มีเจ้าหน้าที่มารับผิดชอบงานในแต่ละด้านโดยตรง และยังได้เพิ่มระบบทางการด้วยการมีระบบกลั่นกรองในการตรวจสอบข้อร้องเรียนที่จะเข้าสู่การกลั่นกรองของสำนักงานให้มาตรวจดูว่างานที่เขาไปตรวจสอบมาถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่และเป็นไปอย่างมีเอกภาพหรือไม่ด้วย ท้ายสุดจนถึงขั้นรายงานเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิทธิฯ

ท้ายนี้ประธาน กสม.เล่าให้ฟังถึงเวลาว่างจากการทำหน้าที่ว่า ส่วนใหญ่จะมีงานอดิเรกไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นไม้ เพื่อจะคลายความตึงเครียด เพราะเราได้อยู่กับต้นไม้ใบหญ้าสีเขียวๆก็ทำงานสดชื่นได้ หรือไปรับประทานอาหารกับครอบครัวนอกบ้าน ขณะเดียวกันถ้ามีโอกาสก็เดินทางไปท่องเที่ยวบ้างทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งตนก็พยายามแบ่งงานและการพักผ่อนให้สมดุลกัน

สำหรับประวัติการศึกษาของคุณวัส ติงสมิตรนั้น ปี 2518 - นิติศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปี 2521-เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาปี 2534 - Master of Laws (LL.M.) Southern Methodist University (SMU) USA.ปี 2551- ประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน (กฎหมายมหาชน) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยมีประวัติการทำงาน-นิติกร กรมแรงงาน (ก่อนจัดตั้งกระทรวงแรงงาน)-นิติกร ธนาคารแห่งประเทศไทย-ผู้พิพากษาศาลจังหวัด ปากพนัง, นครสวรรค์, ชลบุรี และศาลแขวงพระนครใต้-ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงขอนแก่น และศาลจังหวัดสุพรรณบุรี–ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง-ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 3-ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ภาค 2 และศาลอุทธรณ์ ภาค 3-รองประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 6-ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฎีกาทำหน้าที่ staff ของเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมกำกับงานด้านกฎหมายและวิชาการศาลยุติธรรม

-ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา- ผู้พิพากษาศาลฎีกา แผนกคดีปกครอง คดีทรัพย์สินทางปัญญาฯ และคดีเลือกตั้ง -ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา-ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา สังกัดศาลฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม-กรรมาธิการวิสามัญในร่าง พรบ. ที่สำนักงานศาลยุติธรรมเป็นเจ้าของร่าง–กรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา-   อาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ฯลฯ-อาจารย์พิเศษบรรยายวิชากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา-งานวิทยากรให้ความรู้ทางกฎหมายในการสัมมนาและทางวิทยุกระจายเสียง

 

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...