ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
พลังงาน / สิ่งแวดล้อม ย้อนกลับ
สางปมขยะตามแนวทางประชารัฐ ก่อนจะไปถึง พ.ร.บ.รักษาความสะอาด
30 มิ.ย. 2559

          “ขยะ” ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แม้ว่ากระทรวงมหาดไทยจะออกหน้ามาเป็นแกนนำหลัก ตามที่ คสช.ออกมาประกาศให้ ปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ แต่เนื่องจาก พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ อปท. และภาคเอกชน ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น หลายฝ่ายจึงฝากความหวังไว้ที่ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ที่กำลังจะเผยโฉมออกมาในเร็ววันนี้ 

  • ปัญหาขยะเรื่องใหญ่ที่ท้องถิ่นต้องเผชิญ

          นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาล โดย ฯพณฯ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศให้ปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ โดยมุ่งหวังให้จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแก้ไขปัญหาในจังหวัดของตนเองแต่ท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังขาดความพร้อม ทั้งด้านงบประมาณ เทคโนโลยี และบุคลากรที่ชำนาญ ส่งผลให้การจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่ไม่มีประสิทธิภาพ บางแห่งประสบปัญหาเรื่องการจัดหาสถานที่กำจัดขยะในพื้นที่ของตนเอง เนื่องจากถูกชาวบ้านต่อต้าน เพราะเกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษในการกำจัดขยะ

          เหล่านี้คือปัญหาที่ท้องถิ่นทั้งหลายต้องเผชิญ เพราะการบริหารจัดการขยะ ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ที่จะสามารถดำเนินการได้โดยง่าย จำเป็นจะต้องมีการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจและสร้างขบวนการการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน

          “การจัดสัมมนา เรื่อง ปัญหาขยะ : การจัดการและวาระแห่งชาติ ที่ อปท.นิวส์ และ ส.ท.ท. ร่วมจัดให้มีขึ้น เพื่อให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาระดมความคิดกัน จะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการแก้ไขปัญหาขยะในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมในโอกาสต่อไป”

  • มหาดไทยเจ้าภาพหลักแก้ปัญหาขยะ

          นายจรินทร์ จักกะพาก  อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ปาฐกถาพิเศษ ความว่า รัฐบาลได้มีการดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารการจัดการขยะมาเป็นลำดับ โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยปฏิบัติ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นคนดำเนินการ ซึ่งได้มี มติ  คสช.และมติ ครม.เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาขยะ จำนวน 5 มติ ด้วยกัน ได้แก่  (1) มติ คสช. 26 ส.ค. 2557 เห็นชอบ Road Map การจัดการขยะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ซึ่งมีปริมาณขยะอยู่มากว่าจะบริหารจัดการขยะที่ตกค้าง (2) มติ คสช. 19 ส.ค. 2557 (3) มติ ครม. 12 พ.ค. 2558 (4) มติ ครม. 16 มิ.ย. 2558 โดยมติที่ 2-3-4 นี้ มอบหมายให้ กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ  (5) มติ ครม. 3 พ.ค. 2559 เห็นชอบแผนแม่บทจัดการขยะ

          โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการขยะมูลฝอย  และมีแผนแม่บทที่กระทรวงทรัพย์ฯซึ่งได้เสนอมา 4 ปี มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและ อปท.ดำเนินตามแผนบริหารจัดการขยะในปี 2560  ตามแนวความคิดพื้นฐานในเรื่องหลักการทำงานแบบประชารัฐ คือทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการปัญหาขยะ

          “ที่ผ่านมาพี่น้องประชาชนมองว่าปัญหาขยะ เป็นเรื่องของ อปท.ที่จะต้องบริหารจัดการ ส่วนตนเองมีหน้าที่แค่ทิ้งให้ถูกที่ถูกทาง ขณะที่ต้นทุนในการจัดเก็บขยะต่อ 1 ครัวเรือน 102 บาท ถ้าจะต้องส่งไปยังสถานที่กำจัดด้วยก็เพิ่มอีก 70 บาท รวมแล้วประมาณ 172 บาท แต่ท้องถิ่นจัดเก็บเงินจากประชาชนจริงๆ ค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ ไม่เกิน 20 บาท และกฎหมายที่กระทรวงสาธารณสุขออกมา อปท.ก็เก็บได้ไม่เกิน 40 บาท”

          ในแต่ละปี อปท.จะรับภาระค่ากำจัดขยะ ปีละประมาณ 1 หมื่นล้านบาท แต่จัดเก็บได้ประมาณ 2 พันล้านบาท จึงเป็นภาระหนักของ อปท.ทั่วประเทศ ด้วยเหตุนี้ กระทรวงมหาดไทยจึงได้เสนอแนวความคิดร่วมกับทางกระทรวงทรัพย์ฯ โดยใช้หลัก 3Rsภายใต้หลักประชารัฐ คือทุกคนทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาขยะ

          ทั้งนี้  เพื่อการแก้ปัญหาขยะทั้ง 4 ประเภทได้แก่ 1.ขยะมูลฝอยทั่วไป  2.ขยะอันตรายในชีวิตประจำวัน 3.ขยะมีพิษ คือขยะที่เกิดจากโรงพยาบาล 4.ขยะจากอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีกลยุทธ์ในการบริหารจัดการขยะ  6 กลยุทธ์ ดังนี้

          1.การลดปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนด้วยกระบวนการต่างๆ โดยทุกคนในสังคม

          2.การเตรียมความพร้อมในการจัดการจัดการขยะมูลฝอยตกค้างอย่างมีประสิทธิภาพ

          3.การรวบรวมของเสียอันตรายชุมชนแหล่งกำเนิดอย่างมีประสิทธิภาพ

          4.การจัดการมูลฝอยติดเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ

          5.การจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ

          6.การสนับสนุนการดำเนินการการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ต้นทาง ถึงปลายทาง 

          ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้มีความท้าทายในตัวมันเอง เพราะการสร้างจิตสำนึก ต้องใช้เวลาพอสมควร อย่างไรก็ตามใน 76 จังหวัด จะมีต้นแบบของการบริหารจัดการขยะที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้พี่น้องประชาชนหรือ อปท.ในเขตจังหวัดนั้นๆได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน 

          “สำหรับ เป้าหมายการดำเนินการ ในปี 2560  คาดว่าถ้ามีการดำเนินการแบบประชารัฐ ก็จะสามารถลดขยะลงได้ 5% จาก 26 ล้านตันลดลงไป 1.3 ล้านตัน นอกจากนี้เรื่องของเสียอันตรายต้องมีการคัดแยกบริหารจัดการเป็นพิเศษ ประการสุดท้ายคือการกำจัดและให้ความรู้กับประชาชนเรื่องกากอุตสาหกรรมและขยะติดเชื้อ สิ่งเหล่านี้ทุกคนต้องช่วยกัน ซึ่งไม่ยากแต่ก็ไม่ง่ายเกินไป แต่เราก้ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้  เพื่อประโยชน์แก่ตัวเอง และสร้างสังคมให้น่าอยู่” อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าว

 

  • ต้องสร้างวินัยให้คนในชาติ

          นายสุวรรณ นันทศรุต รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า การจัดการขยะเป็นหนึ่งใน 3 เรื่องที่กรมควบคุมมลพิษต้องรับผิดชอบหลัก และมีหน่วยงานที่รับผิดชอบร่วมกันคือ กระทรวงมหาดไทย มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในส่วนที่เป็นมาตรการเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย และกำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการขยะให้ชัดเจนขึ้น

          ส่วนกระทรวงสาธารณสุขจะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และมาตรฐานการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยและออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการเก็บ ขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยโดยราชการส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่เก็บ ขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งมีอำนาจออกข้อกำหนดของท้องถิ่นเพื่อดำเนินการให้ถูกสุขลักษณะตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข และกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการเก็บ ขน หรือกำจัดสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ไม่เกินอัตราที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

          ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมจัดการขยะภายในเขตโรงงานอุตสาหกรรม โดยห้ามนำออกนอกบริเวณโรงงาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้นำออกไปทำลายฤทธิ์ กำจัด นำกลับไปใช้ประโยชน์ จัดการ หรือฝังโดยวิธีการและสถานที่เฉพาะตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม

          สำหรับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะให้การบริการจัดการของเสียขยะมูลฝอย โดยกำหนดให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด และให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวบรวมและวิเคราะห์แผนปฏิบัติการดังกล่าวและเสนอขอตั้งงบประมาณ อีกทั้งปัจจุบันกรมควบคุมมลพิษยังอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ กำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากการกำจัดมูลฝอยด้วย ทำให้ในการขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ พ.ร.บ.นี้กำหนด และปล่อยทิ้งอากาศเสียจากการกำจัดขยะต้องเป็นไปตามค่ามาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษกำหนด

          “สำหรับซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และซากผลิตภัณฑ์อื่น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว กำหนดให้ศูนย์รับคืนซากผลิตภัณฑ์และผู้ผลิตมีหน้าที่รับคืนผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้แก่ คอมพิวเตอร์ เครื่องโทรศัพท์และโทรศัพท์ไร้สาย เครื่องปรับอากาศ ฯลฯและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่กำหนดในกฎกระทรวงฯ ไปจัดการตามแผนความรับผิดชอบในการจัดการซากผลิตภัณฑ์และตามประกาศอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ”

          นายสุวรรณ  กล่าวอีกว่า ในปี 2559 ตามแผนปฏิบัติการการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ ในโครงการ “ประเทศไทยไร้ขยะ” ตามแนวทาง “ประชารัฐ” พ.ศ. 2559-2560 กรมควบคุมมลพิษได้ทำRoadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ด้วยการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยเก่าตกค้างสะสม  สร้างรูปแบบการจัดการขยะมูลฝอยใหม่  วางระเบียบและมาตรการการบริหาร จัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย รวมถึงต้องสร้างวินัยคนในชาติ

          สำหรับแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอย 5 ปี ของประเทศ กรมควบคุมมลพิษ มีเป้าหมายที่ชัดเจนคือ 1.ขยะมูลฝอยชุมชนได้รับการจัดการอย่างถูกต้องฯ ไม่น้อยกว่า75 %(ภายในปี 2564) 2.ขยะมูลฝอยตกค้างได้รับการจัดการอย่างถูกต้องฯ 100%(ภายในปี 2562) 3.ของเสียอันตรายชุมชนได้รับการรวบรวมและส่งกำจัด ไม่น้อยกว่า30 %(ภายในปี 2564) 4.มูลฝอยติดเชื้อได้รับการจัดการอย่างถูกต้องฯ 100%(ภายในปี 2563) 5.กากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายเข้าสู่ระบบการจัดการ100%(ภายในปี 2563) และสุดท้ายอปท.มีการคัดแยกขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายชุมชนที่ต้นทาง (อปท.3,889แห่ง) หรือไม่น้อยกว่า50 %(ภายในปี 2564)

 

  • แก้ปัญหาขยะต้องเริ่มที่ต้นทาง

          นางสาวสาวิตรี ศรีสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมและเผยแพร่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงสร้างวินัยการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนว่า ทางกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมจะเน้นการสร้างวินัยการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน จากข้อมูลประมาณขยะฝอยในประเทศไทย ปี 2558 มีประมาณ 26.85 ล้านตันต่อปี  หรือ 73,560 ตันต่อวัน ซึ่งสัดส่วนองค์ประกอบของขยะที่พบจะเป็นขยะอินทรีย์ 64% ขยะรีไซเคิล 30% ที่เหลือจะเป็นขยะทั่วไปและขยะอันตราย

          ดังนั้นกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมจึงได้มีการรณรงค์ให้มีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ให้มีการจัดการกลางทางอย่างเป็นระบบและกำจัดอย่างถูกวิธีที่ปลายทาง และมีการรณรงค์ให้มีการคัดแยกขยะทั่วประเทศ และลดการก่อให้เกิดขยะ ด้วยการใช้ถุงผ้า ลดขยะในงานศพ เช่น ใช้อาหารจานเดียวในงานศพ งดเหล้าในงานศพ ใช้แก้วน้ำแทนแก้วพลาสติก เป็นต้น ลดขยะในบ้าน ลดขยะในสวนและลดขยะตามถนนซึ่งจะสามารถช่วยลดปริมารขยะที่จะเพิ่มขึ้นได้

 

  • รูปแบบการบริหารจัดการขยะนครภูเก็ต

          นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ตกล่าวถึงการจัดการขยะของภูเก็ตว่าได้มีการตั้งคณะกรรมการโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเป็นประธาน มีองค์กรปกครองท้องถิ่นทั้ง 19 อปท.เป็นกรรมการและมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สาธารณสุขจังหวัด เข้ามาร่วมทำงาน โดยหน้าที่ของคณะกรรมการคือแก้ไขปัญหาในเรื่องการจัดการขยะ ซึ่งหากดูจากข้อมูลของจังหวัดภูเก็ตตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบันมีขยะเพิ่มขึ้นถึง 150%

          “ฟังอย่างนี้บางคนอาจจะตกใจ แต่หากมองย้อนไปเมื่อปี 2542 จะพบว่าภูเก็ตมีนักท่องเที่ยวไม่ถึง 3 ล้านคนต่อปี แต่วันนี้มีนักท่องเที่ยวประมาณ 13 ล้านคน เฉลี่ยก็คือจะมีคนอยู่ภูเก็ตประมาณ 1 ล้านคนต่อเดือนแต่หากดูจากสำมะโนประชากรภูเก็ตมีคนอาศัยอยู่เพียง 3แสนกว่าคน หรือมีประชากรแฝง 1 เท่าตัวซึ่งถ้าหากคิดว่ามีขยะ 1.2 กิโลต่อคนต่อวัน ภูเก็ตจะมีปริมาณขยะมากกว่า 1 พันตันต่อวัน แต่ในความจริงทุกวันนี้ภูเก็ตมีขยะประมาณแค่ 750 ตันต่อวัน”

          ค่อนข้างโชคดีที่ภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยว ทำให้ผังเมืองถูกออกแบบมาค่อนข้างดี โดยสำนักงานผังเมืองและโยธาจังหวัดภูเก็ตได้ขอพื้นที่ในการบริหารจัดการขยะจากกรมป่าไม้ จำนวน 290 ไร่มาจัดทำเป็น“ศูนย์บริหารจัดการขยะจังหวัดภูเก็ต” โดยได้แยกพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วนคือ 134 ไร่ ใช้เป็นที่บริหารจัดการขยะ และอีก 120 ไร่ ทำเป็นบ่อฝังกลบ 14 ไร่เป็นพื้นที่ของบ่อบำบัดน้ำชะล้างขยะ และ 46ไร่ เป็นพื้นที่ของโรงงานเตาเผาขยะ และทำบับเบิลโซน 78 ไร่ ส่วนที่เหลือ32 ไร่ ใช้เป็นที่บำบัดน้ำเสียของนครภูเก็ต

          ในการบริหารจัดการขยะนครภูเก็ต มีการดำเนินการใน 3 ส่วน โดยขยะติดเชื้อจัดเก็บได้วันละประมาณ 1,200 กิโลกรัมต่อวัน ส่วนนี้เก็บจากโรงพยาบาลของภาครัฐ ยังไม่รวมคลีนิคต่างๆ และมีขยะอันตราย เช่นหลอดไฟ แบตเตอร์รี่ อีก 370 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งการจัดการขยะเหล่านี้ก็จะมีค่าใช้จ่ายสูง โดยเราใช้ระบบการกำจัดขยะแบบรวมศูนย์ ซึ่งจะมีทั้งการฝังกลบและเผา โดยเตาเผามี 2 โรง โรงหนึ่งเป็นของกรมโยธาธิการที่ดำเนินการก่อสร้างและยกให้กับจังหวัดภูเก็ต เป็นโรงงานแบบ 2 หัวเผา สามารถหัวเผาขยะได้วันละ 250 ตันต่อวัน และสามารถนำความร้อนที่ได้ไปผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 250 เมกกะวัตต์ต่อวัน

          อย่างไรก็ตามในปีงบประมาณ 2546-2547 จำนวนขยะได้เพิ่มมากขึ้นจากการขยายตัวของการท่องเที่ยว แต่จังหวัดภูเก็ตไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐในเรื่องนี้ คณะกรรมการบริหารจัดการขยะฯจึงได้มีมติให้เอกชนเข้าไปลงทุนก่อสร้างโรงกำจัดขยะ ขนาด 70 ตันต่อวัน

          “จังหวัดภูเก็ตได้มีการสร้างเครือข่ายบริหารจัดการขยะ มีการก่อตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน และสร้างนวัตกรรมถังขยะไม่มีวันเต็ม โดยในวันนี้ได้มีการทำเอ็มโอยูกับทุก อปท.ในการเอาถังขยะดังกล่าวไปใช้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการแยกขยะจากต้นทาง นอกจากนี้ยังได้มีการสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนโดยทั่วไป โดยมีมูลนิธิสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ตมาสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชน”นางสาวสมใจ กล่าว

 

  • พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ คืออุปสรรคและปัญหาใหญ่

          นายจิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์ กล่าวว่าทางเทศบาลได้พยายามทำเรื่องของการกำจัดขยะก่อน พ.ร.บ.ร่วมทุน โดยได้พยายามทำเรื่องกำจัดขยะกับพลังงานไฟฟ้า มีการทำการศึกษาออกแบบ และมีเอกชนสนใจที่จะเข้ามาลงทุน แต่เมื่อมีการประกาศ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ในเดือนเมษายนปี 2556 บริษัทเอกชนที่จะเข้ามาทำก็เงียบหายไปเลย เพราะรายละเอียดขั้นตอนตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนนี้ค่อนข้างยุ่งยากมาก

          “สำหรับเทศบาลนครนครสวรรค์เรามีขยะประมาณ 200 กว่าตันทุกวันซึ่งก็ถือว่าไม่มาก แต่เรามีปัญหาสำคัญคือเรามีขยะตกค้างอยู่ประมาณ 650,000 ตัน ในบ่อขยะพื้นที่ 266 ไร่ ซึ่งมีการดำเนินการอย่างถูกต้องมากว่า 18 ปี”

          อย่างไรก็ตามในปี 2557 ทางเทศบาลได้เริ่มโครงการร่วมทุนกับเอกชนอีกครั้งหนึ่ง โดยมีการลงนามกับ อบต. 44 แห่ง และก็นำเรื่องของโรงไฟฟ้าขยะให้สภาเทศบาลเห็นชอบ จากนั้นจึงได้ส่งเรื่องไปให้จังหวัดพิจารณารายละเอียดเรื่องของการก่อสร้าง จุดคุ้มทุนต่างๆ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบ และส่งเรื่องต่อไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และส่งต่อไปยังกระทรวงมหาดไทยโดยปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน โดยหลังจากที่รัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว ก็จะส่งเรื่องกลับมาที่จังหวัดเพื่อจัดหาผู้ร่วมทุนต่อไป แต่หลังจากนั้นก็ต้องส่งสัญญาให้สำนักงานกฤษฎีกาตรวจดูอีกครั้ง จากขั้นตอนทั้งหมดนี้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี

          “สิ่งที่เราคาดหวังคือ ทำอย่างไรถึงจะลดเงื่อนไขและขั้นตอนต่างๆ ซึ่งก็หวังว่า พ.ร.บ.รักษาความสะอาดที่จะคลอดออกมาสามารถช่วยได้ จึงอยากฝากให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดูแล เพราะว่าอำนาจหน้าที่ในระดับจังหวัดไม่สามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้ที่สำคัญคือยังมีปัญหาในเรื่องของ พ.ร.บ.ร่วมทุนด้วยเช่นกัน” นายจิตตเกษมณ์ กล่าว

 

  • ช่องทางขายขยะให้ TPIนำไปผลิตไฟฟ้า

          นายวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้มีการพัฒนาในเรื่อง การเอาขยะต่างๆ มาใช้เป็นวัตถุดิบในการแปลงเป็นพลังงานเชื้อเพลิง เพื่อเผาปูนซีเมนต์  เรียกว่า อะแดป  โดยไม่มีการนำขยะมากองสุมอยู่ข้างนอกตัวโรงงาน และการเอาขยะมูลฝอยมาแปลงสภาพเป็นเชื้อเพลิง ที่มีคุณลักษณะ ค่าความร้อน องค์ประกอบทางด้านเคมีต่างๆความเหมาะสมในการเป็นเชื้อเพลิง ได้ค่าความร้อนในระดับ 1,000 กิโลแคลอรี่ สูงสุดที่ประมาณ 3500-3800 กิโลแคลอรี่  เพื่อใช้ในโรงผลิตไฟฟ้า

          เนื่องจากทีพีไอ มีโรงงานอาร์ดีเอฟเอง เราจึงสามารถกำจัดขยะได้หลายรูปแบบ สามารถรับขยะที่ชุมชนไม่ได้คัดแยกมาดำเนินการได้เลย  หรือขยะเก่าจากบ่อฝังกลบ ที่ต้องการเคลียร์บ่อหรือจะล้างบ่อ หากนำขยะเข้ามาโดยไม่มีการคัดแยก  เราจะไม่ได้เก็บค่ากำจัดขยะ แต่ต้องเอามาคัดแยกวัตถุดิบในการแปรเป็นเชื้อเพลิง ส่วนที่ 2 คือส่วนที่ได้เงิน และถ้ามีภาคเอกชนหรือหน่วยงานรัฐไปลงทุนในเรื่องโรงงานคัดแยกขยะเก่า  ตรงนี้เราให้ค่าคัดแยก ถือว่าท่านได้คัดแยกเพื่อมาเป็นเชื้อเพลิงให้โรงงานเรา 

          สำหรับขยะทุกประเภทถ้ามีค่าความร้อนเกิน 2,500 กิโลแคลอรี่ ทีพีไอก็จะจ่ายเงินให้ อย่างเช่นขยะจากสุวรรณภูมิ ที่ส่งมาโดยไม่ได้คัดแยก การดูว่าขยะจะมีค่าความร้อนถึง 2,500 หรือไม่ ก็ดูที่มันไม่เปียก แล้วก็มีองค์ประกอบที่เป็นพลาสติกส่วนใหญ่  อย่างตอนนี้ที่บางบ่อขนขยะมาส่งมีการคัดแยกแล้วบางส่วน และพยายามให้มันแห้งแล้ว ทีพีไอจ่ายให้กิโลแคลอรี่ละ 20 สตางค์  ถ้ามีสิ่งอื่นปะปนมาเพียงแค่ 10%  เราจ่ายเพิ่มให้อีก 400 บาท

          “ขยะซึ่งส่งให้ พีทีไอ ส่วนใหญ่ไม่ใช่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่เป็นภาคเอกชนที่ทำบ่อขยะ ส่งขยะสดไปให้ทีพีไอที่ จ.สระบุรี ประมาณ 1,500 ตันต่อวัน เพื่อให้กำจัด ไม่ได้ขาย ส่วนที่ 2 ที่เป็นขยะเก่าที่ เอกชนเข้าไปรับจ้างรื้อล่อน แล้วส่งมาให้ ประมาณ 300-400 ตันต่อวัน  แต่มีอีกประเภทที่น่าสนใจ คือไปล่อนมาเป็นอาร์ดีเอฟ เพื่อได้ค่าความร้อนที่ดีขึ้น เมื่อก่อนมีประมาณ 100 ตันต่อวัน  แต่ตอนนี้ ประมาณ 1,000 ตันต่อวัน แสดงว่าธุรกิจในแนวทางนี้เติบโตขึ้นมากทั้งนี้ทีพีไอสามารถจัดการขยะทุกประเภทได้ไม่ต่ำกว่า 4,000 ตันต่อวัน”

          ในเรื่องของระเบียบมหาดไทยว่าด้วยเรื่องการห้ามขนขยะข้ามจังหวัด ความจริงก็เห็นด้วยว่า ขยะไม่ควรจะข้ามแดนเพื่อผลักภาระให้กับที่อื่น มันก็ไม่ควร เพราะว่าไปสร้างปัญหา สร้างมลภาวะ แต่ถ้าขนจากจังหวัดหนึ่งมาให้อีกจังหวัดหนึ่ง เพื่อแปลงขยะให้เป็นเชื้อเพลิงให้เกิดประโยชน์ได้ ตรงนี้ก็ไม่ควรไปปิดกั้น ควรเปิดทางให้เขาพิจารณาเองว่าส่งไปที่ไหนถูกกว่า ได้ประโยชน์มากกว่า

          “ยกตัวอย่างเช่น  เทศบาลและ อบต.ขนาดเล็ก  ที่มีปัญหาขยะสะสม บางครั้งการขนไปเทที่บ่อขยะ แล้วเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก เมื่อเทียบกับการนำไปส่งที่ทีพีไอแล้ว เขาประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งมากกว่า  ในขณะเดียวกันขยะที่เขาไปทิ้งในบ่อมันก็อาจจะเกิดปัญหาในเรื่องของมลพิษ  แต่ถ้าเขาส่งมาที่ทีพีไอ เพื่อแปลงเป็นเชื้อเพลิงก็ไม่สร้างปัญหา หรือผลกระทบอะไรทั้งสิ้น”นายวรวิทย์กล่าว

 

  • รอผล พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ

          นายพิชัย ถิ่นสันติสุขประธานกิตติมศักดิ์ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขยะอุตสาหกรรม มีการจัดการถูกต้อง  80 ไม่ถูกต้อง 20 ขณะที่ขยะชุมชน มีการจัดการอย่างถูกต้อง 20 และไม่ถูกต้อง 80 ขณะที่การแก้ปัญหาในขณะนี้มีปัญหามากมาย รวมทั้งเรื่องของกฏระเบียบและกฏหมาย ข้อสังเกตุอย่างหนึ่งคือกฏหมายอุตสาหกรรมที่ออกมาใหม่รองรับขยะอันตรายได้ แต่ไม่รองรับขยะชุมชน ในเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าโดยรัฐจ่ายส่วนเพิ่มให้  และอีกประมาณ 2 เดือน ก็จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุน โดยมีการยกร่างไว้คร่าวๆ ยังไม่เป็นทางการ คือใครจะมาทำขยะชุมชน จะต้องเซ็นสัญญากับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีสัญญาไม่น้อยกว่า 20 ปี และจะต้องมีปริมาณขยะพอดีที่จะผลิตไฟฟ้าได้ 

          ในขณะที่ประเทศไทยมีปัญหาการคัดแยกขยะ  ถ้าไม่มีการปรับปรุงคุณภาพขยะ จะบริหารจัดการกันอย่างไร ดังนั้นก็ต้องมีระบบคัดแยก อย่างระบบ RDF ที่ TPI กำลังทำอยู่ซึ่งหากกองทิ้งเอาไว้เหม็นแน่นอน ชีวมวลค่าความร้อนก็จะลดลงๆ แต่ RDF สามารถเก็บไว้ได้  ค่าความร้อนก็เพิ่มขึ้น

          “เมื่อก่อนขยะคือภาระต้องทิ้งไปฟรีๆ  แต่ตอนนี้มีผู้ซื้อ เกิดเป็นโอกาสและทางเลือกมากขึ้น ไม่ใช่แต่ ทีพีไอเท่านั้นที่รับซื้อ โรงปูนอื่นๆก็รับซื้อเช่นกัน แต่ปัญหาขยะ ทุกวันนี้ไม่ได้อยู่ที่เอกชน ปัญหาอยู่ที่กฏระเบียบภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.ร.บ.ร่วมทุน ที่มีบทบัญญัติ 14 ประการ จึงต้องรอ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ซึ่งใกล้จะคลอดออกมาแล้วคาดว่าประมาณเดือน สิงหาคม59 และกระทรวงมหาดไทยออกกฏหมายลูกอีก 2 เดือน ซึ่งก็คงจะเลยมกราคม 60  แต่ถ้าจะให้เร็วกว่านี้ก็ต้องใช้  ม.44”

          ทั้งนี้ พ.ร.บ.รักษาความสะอาด  จะระบุว่าการกำจัดขยะข้ามแดนไม่ได้ แต่ถ้าจะทำได้ต้องได้รับความเห็นชอบ จากกระทรวงมหาดไทย เพื่อไม่ให้มีการไล่ขยะไปสร้างปัญหาที่อื่น แต่ในทางปฎิบัติ ถามว่าขยะข้ามแดนได้ไหม บางจังหวัดประชาชนไม่ยอมให้มีโรงงานกำจัดขยะ ก็ต้องขนไปกำจัดที่อื่น อันนี้ก็ต้องอยู่ที่ดุลย์พินิจของกระทรวงมหาดไทย  เพราะคสช. ให้กระทรวงมหาดไทยให้เป็นเจ้าของเรื่อง

          “ผมอยากจะเรียนทุกท่านว่า ตอนนี้ผู้ร้ายเปลี่ยนตัว ใครๆ เคยบอกว่าโรงไฟฟ้าขยะไม่เกิดเพราะว่าเจ้าพ่อท้องถิ่นไม่ให้  ตอนนี้ปัญหาต่างๆ ไม่ได้อยู่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปัญหาขยะไปอยู่ที่กฏระเบียบ และการผลักดันความคิดของผู้ถือนโยบายที่จะนำกฏหมายใหม่ออกมาใช้”นายพิชัยกล่าวปิดท้าย

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...