ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
คุณภาพชีวิต ย้อนกลับ
พม. ตั้งครัวกลาง “เราไม่ทิ้งกัน” ช่วยเหลือประชาชนที่ขาดแคลนอาหาร
08 พ.ค. 2563

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดกิจกรรม Kick Off โครงการ ครัวกลาง พม. เราไม่ทิ้งกัน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายและประชาชนในชุมชนที่ขาดแคลนอาหารในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยรับมอบวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ได้แก่ ข้าวสาร ผักสด และเนื้อไก่สด รวมทั้งข้าวกล่อง จากภาคีเครือข่ายภาคเอกชน ประชาสังคม และประชาชน พร้อมส่งต่อให้กับครัวกลาง พม. ทั้ง 38 จุด ในพื้นที่ กทม.

โดยมีผู้มีจิตศรัทธา คือ 1.ตัวแทนเครือข่ายชาวนา จังหวัดยโสธร มอบข้าวสาร 3.5 ตัน 2.บริษัท CPF ประเทศไทย (จำกัด ) มหาชน มอบเนื้อไก่สด 1,000 กิโลกรัม 3.พนักงานบริษัท CPF ประเทศไทย จำกัด มหาชน มอบข้าวกล่อง จำนวน 2,625 กล่อง 4.บริษัท TESCO Lotus มอบผักสด 1,000 กิโลกรัม 5.บริษัท หยั่นหว่อหยุ่น คอปอร์เรชั่นกรุ๊ป จำกัด มอบผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงอาหาร 6.คุณวิวรรธน์ เหมมณฑารพ วปอ. 62 มอบอาหารจากร้าน ต้นกล้าฟ้าใส 7.บริษัท เอช เค ฟาร์มาซูติคอล มอบผลิตภัณฑ์ยารักษาโรค 8. สถาบันพระปกเกล้า มอบถุง “ปรม.19 ยิ้มด้วยกัน” บรรจุเครื่องอุปโภคบริโภค จำนวน 2,000 ถุง 9.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มอบเงิน 35,000 บาท

นายจุติ กล่าวว่า การรับสิ่งของบริจาคของศูนย์รับบริจาคกระทรวง พม. ดำเนินงานด้วยความโปร่งใส สิ่งของบริจาคทุกอย่างเข้าออกโดยมีการทำบัญชี ในการตั้งครัวกลาง พม. เราไม่ได้กำหนด แต่มาจากความต้องการของชุมชน ตามที่ พม. ได้ลงพื้นที่สำรวจ 286 ชุมชนในกรุงเทพฯ ที่อยู่ในความรับผิดชอบ สถาบันองค์กรพัฒนาชุมชน (พอช.) และการเคหะแห่งชาติ (กคช.) และได้สอบถามในสิ่งขาดเหลือ พบว่าในหลายชุมชนต้องการเพียงอาหารแห้ง เพราะมีภาคเอกชนเข้ามาบริจาคแล้ว ฉะนั้นเราจะไม่แข่งกันบริจาค แต่จะกระจายสิ่งของบริจาคให้ทั่วถึง โดยพบว่าแต่ละวันสามารถทำอาหารกล่องแจกประชาชนได้หลายพันกล่อง ทั้งนี้นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้กองทัพบก จัดรถครัวเคลื่อนที่ 106 ทีม ให้บริการประชาชนที่เดือดร้อนในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมดนี้ตนเชื่อว่าจะบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนได้ในระดับหนึ่ง

นายจุติ กล่าวด้วยว่า ในส่วนความคืบหน้าที่นายกฯ ได้มอบหมายให้ กระทรวง พม. เยียวยาประชาชนกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้ได้รับสิทธิในโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด, ผู้รับเบี้ยยังชีพสูงวัย, ผู้รับเบี้ยคนพิการ เราได้ร่วมมือกับเอ็นจีโอและภาคประชาชน สำรวจประชาชนกลุ่มเปราะบาง อาทิ ผู้ตกงานที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและทางอ้อม ที่ไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม และกระทรวงแรงงานได้เตรียมสรุปยอดภายในวันที่ 10 พ.ค. 63 นี้ ก่อนจะเสนอที่ประชุมร่วมกระทรวงมหาดไทย ในวันที่ 15 พ.ค. 63 ทั้งนี้กระทรวง พม. จะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้มีประชาชนตกหล่น โดยแบบสอบถามที่เราได้สัมภาษณ์นั้นมีความละเอียดและมั่นใจว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อนจริง ที่สำคัญคือห้ามให้การช่วยเหลือซ้ำซ้อน

นายจุติ กล่าวด้วยว่า กระทรวง พม.จะเสนอแนวทางเยียวยากลุ่มคนเปราะบาง โดยมี 2 ส่วน คือ 1.เข้าเกณฑ์ของกระทรวง พม. อาทิ ขาดรายได้ ตกงาน จะได้เงินสงเคราะห์ครอบครัวละ 2,000 บาท ส่วนคนที่มีรายได้ แต่ได้รับความเดือดร้อน อย่างครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว ขาดเครื่องอุปโภคและบริโภคและทุนทรัพย์ก็จะช่วยสิ่งของตามความต้องการให้เขาดำรงชีวิตอยู่ได้ และ 2.เข้าเกณฑ์ขององค์กรอื่น ๆ เช่น กองทุนคนพิการ เงินช่วยเหลือด้านการศึกษา นมผง ก็ช่วยเหลือตามภารกิจ โดยทั้งหมดนี้จะช่วยเหลือเป็นรายกรณี อาจจะไม่ตายตัวว่าจะช่วยเหลืออะไรบ้าง แต่จะดูจากความต้องการและความเดือดร้อน ทั้งนี้ขอเชิญชวนทุกคนมาช่วยกันร่วมบริจาค เพื่อส่งต่อความช่วยเหลือให้กับประชาชนที่เดือดร้อน โดยสามารถร่วมบริจาคเงินและสิ่งของ ได้ที่ศูนย์รับบริจาค กระทรวง พม. โทร 02-659-6476 หรือติดต่อศูนย์ช่วยเหลือสังคมผ่านสายด่วน พม. 1300

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 31 มีนาคม 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...