ปากเสียงของคนท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาประเทศ
อปท.เชิญเป็นแขก ย้อนกลับ
สไกร พิมพ์บึง รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
23 เม.ย. 2563

เรื่องของเกษตรกรนับเป็นปัญหาด้านหนึ่งของประเทศไทยมาโดยตลอด ซึ่งไม่มีเฉพาะที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับผลผลิตและราคาเท่านั้น แต่ปัญหาที่คาราคาซังและเป็นมาอย่างต่อเนื่องก็คือ เรื่องของหนี้สิ้น ซึ่งในปื 2542 ได้มีการก่อตั้งสำนักงานแห่งหนึ่งขึ้นมามีชื่อว่า “สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร” โดยมีเป้าหมายตรงๆ ก็คือ เข้าไปจัดการเรื่องหนี้สิ้นของเกษตรกร

                อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลา 21 ปี ที่ผ่านมา สำนักงานแห่งนี้มีผู้บริหารระดับสูงก็คือ เลขาธิการ พลัดเปลี่ยนกันเข้ามาทำงานถึง 20 คน และล่าสุดที่ยังนั่งบัญชาการสางปัญหาให้เกษตรกรทั้งหลายก็คือบุคคลที่ชื่อ “สไกร พิมพ์บึง” ที่มีตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการมาตั้งแต่ปี 2554 ขณะที่ก็ได้ทำหน้าที่ รักษาการเลขาธิการ ควบคู่มาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน

                แต่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่า สไกร พิมพ์บึง ที่วันนี้นั่งในตำแหน่งสูงสุดของสำนักงานกองทุนฯ แห่งนี้ คนนี้นี่แหละ คือตัวจักรสำคัญ เป็นประวัติศาสตร์ที่ต้องถูกจารึกไว้อย่างไม่มีวันลบเลือนหายว่า แท้จริงแล้วเขาคือหนึ่งในผู้บุกเบิก ผลักดัน ร่วมขบวนการต่อสู้ให้เกิดเป็นรูปะรรม เป็นรูปเป็นร่างของสำนักงานกองทุนฯ แห่งนี้ มาตั้งแต่ต้น

คุณสไกร ในวัย 59 ปี (เกิด 3 สิงหาคม 2503) ที่ยังดูกระฉับกระเฉ่ง มีบุคลิกที่บ่งบอกถึงความเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์การทำงานมาอย่างโชกโชน ให้เกียรติเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ “อปท.นิวส์ เชิญเป็นแขก” ฟังว่า แรกเริ่มชีวิตการทำงานแล้ว รับราชการครูมาก่อน ตั้งแต่ปี 2523 โดยพื้นเพเป็นคนขอนแก่น โตมากับวัด คือเรียนหนังสือด้านบาลีที่วัดมาตั้งแต่มัธยมต้น ขณะเป็นเณรได้เปรียญธรรม 5 ประโยค แล้วก็มีโอกาสลงมาเรียนที่วัดมหาธาตุ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในชั้น มัธยม 4-5 ด้านบาลีสาธิตศึกษา มีดีกรีเป็นศิษย์เก่าดีเด่นของมหาจุฬาฯ ด้วย ก็เป็นการเข้ามาสู่เมืองหลวงนั่นเอง

โดยปี 2523 จบการศึกษาได้ประกาศนียบัตรประโยคครูพิเศษมัธยมการศึกษา (พ.ม.) ปี 2527 จบการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปี 2533 ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (ศษ.ม.) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปี 2534 Post Training Certificate in English (PTCE) Dacorum College, University of London

“ก่อนจะเดินทางจากขอนแก่น จบมัธยมเป็นมหาเปรียญ 5 ก็เริ่มเป็นครูสอนหนังสือตั้งแต่อายุ 16 สอนบาลีช่วย แล้วพออายุ 17-18 ก็ลงมาเรียนที่กรุงเทพฯ มาสอบเรียนเข้าที่โรงเรียนบาลีสาธิตศึกษาของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มาเรียนที่บาลีเตรียมอุดมสาธิตศึกษา เป็นเณรอยู่ที่วัดดอนยานนาวา แล้วก็มาเรียนที่วัดมหาธาตุ”

“ตอนที่มีวุฒิทางเปรียญธรรม พอเริ่ม มัธยม 4 ตอนนั้นสามารถสอบเทียบวิชาชุดครูได้ ชุดครูก็คือตั้งแต่ประกาศนียบัตรครูที่สำเร็จการศึกษา เทียบกับประกาศนียบัตรวิชาชีพครู ผมสอบปีเดียวได้ แล้วก็ปีที่ 2 มัธยม 5 ผมก็สอบวิชาชุดครูได้ จบ มศ.5 แต่มีวุฒิทางครูเทียบเท่าอนุปริญญา ตั้งใจจะสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย แต่พอดีก็มีวุฒิทางการศึกษาอนุปริญญา ก็เลยไปสอบบรรจุครู ก่อนเกณฑ์ทหาร ได้แล้วก็เรียกบรรจุครู เลยไม่ได้เกณฑ์ทหาร”

                คุณสไกร เล่าต่อไปว่า หลังจากนั้นก็กลับมาเป็นครูที่ขอนแก่นบ้านเกิดอยู่ถึง 22 ปี เป็นครูประชาบาล แล้วก็เลื่อนมาเป็นครูในสังกัดสำนักงานการศึกษาประถมแห่งชาติ สอนหลักๆ ก็ภาษาอังกฤษ ซึ่งคุณสไกรยอมรับว่าตัวเขาเป็นนักกิจกรรมในขณะเดียวกันด้วย และความที่เป็นนักกิจกรรมนี่เอง ทำให้มีโอกาสมาร่วมกับผู้นำในท้องถิ่น ตั้งมูลนิธิเกษตรกรไทยขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น

“ผมก็ทำนาอยู่แล้ว เป็นครูก็ทำนาอยู่ด้วย เป็นครูก็สอนไป วันเสาร์อาทิตย์ก็ทำนา กิจกรรมก็ทำไปด้วย พอจบปริญญาตรีก็มาทำงานมวลชน ปี 2527-2529 ก็มารวมกลุ่มกับทางผู้นำในพื้นที่ทำองค์กรชาวบ้านพัฒนาแก้ปัญหาเรื่องการเกษตร โครงการอาชีพ โครงการส่งเสริมอาชีพอะไรต่างๆ”

คุณสไกร เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการได้มาซึ่งกองทุนฟื้นฟูฯ แห่งนี้ เริ่มจากกลุ่มต้องการเข้าไปแก้ไขปัญหาหนี้สิ้นของเกษตรในขณะนั้น ก็เริ่มมาดูหนี้ของเกษตรกรที่มีอยู่กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หรือ ธ.ก.ส. ซึ่งพบว่า กฎหมายของ ธ.ก.ส.ฉบับที่ 16 ที่ออกเมื่อปี 2527 ว่า เกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ ธ.ก.ส.ที่ประสบเหตุสุดวิสัยภัยพิบัติ 1 2 3 4 เขาเรียกว่าประกาศ ธ.ก.ส. ฉบับที่ 16 คุณสามารถที่จะขอความช่วยเหลือเพื่อที่จะขอผ่อนผันหนี้ได้ ก็เลยมาดูกัยในกลุ่มว่ามันสามารถทำได้ ก็เลยเข้าชื่อกันยื่นเรื่อง ตอนแรกก็ไม่มีใครคิดว่าจะทำได้ เราก็เริ่ม จากสิบเป็นร้อยจากร้อยเป็นพัน สามอำเภอ 17,000 พอยื่นเท่านั้นแหละมีปัญหาเลย ธ.ก.ส.ระดับภาคลงมา แล้วก็ยืนยันว่ามันไม่ใช่วิธี เราก็ยืนยันว่าใช่ สุดท้าย ภายใต้คนเยอะ รายชื่อแนบ เราจะถวายฎีกา ในปี 2537 ผู้ว่าราชการจังหวัดตอนนั้นบอกให้ถอนฎีกา ถอนชื่อออก ช่วงนั้นก็เป็นช่วงของรัฐบาลคุณชวน หลีกภัย

จนกระทั่งปี 2538 รายชื่อเกษตรกรเหลือ 3,000 กว่าราย เขาให้ถอนออกๆ ไม่ได้อันนี้ทำไม่ได้ ทั้งที่กฎหมายมันให้ว่าอยู่ในพื้นที่อับน้ำฝน ภัยพิบัติ 3 ปี เราขอผ่อนผันการชำระหนี้แล้วก็ขอไม่ให้คิดดอกเบี้ย แทนที่จะจ่ายภายใน 5 ปี ขอเลื่อนไป 7 ปี สุดท้ายพวกเราก็มายื่น จนมีการประชุมไม่รู้กี่นัด ผู้บริหารก็ใจป้ำ นำเข้า ครม. ชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. 138 ล้าน เฉพาะเกษตรกร 3,000 กว่าราย คราวนี้พวกที่ไปเซ็นออกก็ตาตั้งสิ อยากจะได้ ก็เลยเห็นว่า นี่แหละความเป็นธรรมที่ได้รับจากการผ่อนผันการชำระหนี้ยืดจาก 3 ไป 5 จาก 5 ไป 7 ดอกเบี้ยไม่ต้องจ่าย ต่อจากนั้นก็ตัดสินใจเดินหน้าต่อ เรียกร้องให้รัฐบาลช่วย ให้ตั้งกองทุนฟื้นฟู กลายเป็นกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรแทน คนมาเป็นแสน นี่คือจุดเริ่มต้น จากจุดนี้ ปี 2538 มาอนุมัติ 2539 ก็ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เข้ามาช่วงแรก ก็ตั้งคณะกรรมการเรียกว่า ศูนย์อำนวยการร่วมระหว่างราชการกับเอกชน ผมก็ไปช่วยราชการที่ทำเนียบตั้งแต่นั้นมา ก็ไม่ได้กลับจังหวัดอีกเลย ตั้งแต่ปี 2538

คุณสไกร ยังเล่าด้วยว่า ในการต่อสู้ผลักดันให้เกิดกองทุนฟื้นฟูขึ้นนั้น ตัวคุณสไกรเองได้เข้ามาช่วยการทำงานอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งเป็นการยืมตัวมาช่วยราชการ เช่น มาช่วยที่สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตำแหน่งสืบสานราชการอำเภอ ช่วยราชการ พอช่วยเสร็จก็มีการปรับ ไปช่วยที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แล้วก็ไปทำเนียบรอบ 2 ก็เป็นการไปติดตามเรื่องการจัดตั้งกองทันฟื้นฟูนี้แหละ

“เริ่มตั้งแต่นายกฯ ชวน ก็จะมาเป็นพล.อ.ชวลิต โดยคำสั่งนายกรัฐมนตรี นายกฯ ลงนาม ให้บุคคลเหล่านี้เป็นคณะกรรมการแก้ปัญหาเรื่องระหว่างราชการกับเอกชน ความที่เราเป็นราชการอยู่ตอนนั้น ก็ทำหนังสือไปที่ศึกษาธิการจังหวัดไปที่ปลัดกระทรวงว่า ได้รับแต่งตั้งเป็นราชการนี้ ขออนุมัติเข้าไปร่วม เขาก็อนุมัติ ไปทีละปี ไปทำงาน เข้าไปประจำทำเนียบ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นี่คือพอเข้ามาในช่วงตรงนี้ปี 2539 กองทุนฯ ก็ยังไม่ขยับ สุดท้ายผมก็ช่วยราชการอยู่ในกระทรวงวิทย์ มีการปิดถนนมิตรภาพ ชุมนุมเรื่องนี้ คนมาเป็นแสน เรียกเอากฎหมายกองทุนฯ”

“มีการปิดล้นจากท่าพระ เคลื่อนมาปิดมิตรภาพ ตอนนั้นผมป่วยด้วย เป็นโรคหมอนรองกระดูก แต่เพราะผมเป็นหลัก ผมก็ต้องใส่ชุดคนป่วยออกไปช่วยเขา ไปขึ้นเวทีอยู่ถนนมิตรภาพ ปิดกันอยู่ตั้งแต่ช่วงเช้า ตี 2 ได้ข้อยุติตั้งกรรมการร่วม เขาก็ส่งกลับทันที พอส่งกลับ กองทุนฯ ก็เคลื่อน ขับเคลื่อนอยู่เรื่อยตอนปี 2539 กลับมาก็มาช่วยที่กระทรวงเกษตรฯ”

คุณสไกร เล่าว่า มีการทำประชาพิจารณ์ 4 ภาค เรื่องกองทุนฟื้นฟู ชาวบ้านก็เฮฮากันอุตลุต แต่ละภาคฮือฮากันหมด จนประชาพิจารณ์เสร็จก็จ่อเข้าสภา ก็ยังไม่จบอีก ผมก็ยังช่วยราชการอยู่ มีการชุมนุมที่สนามหลวง ผมก็เข้าร่วม กิน นอนที่สนามหลวงสิบกว่าวัน จนสุดท้ายกฎหมายก็เข้าสภา เสธ.หนั่น (สนั่น ขจรประศาสน์) เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ก็ยอมรับแก้ปัญหา มีการตั้งคณะฯ โดยอาศัยคำสั่งของกระทรวงมหาดไทยตั้งคณะเรียกว่า คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชน หรือ คชช. ให้มีการติดตามในการออกกฎหมายแล้วก็มีการร่างกฎหมาย แล้วตอนนั้นก็เริ่มทำเศรษฐกิจชุมชน ก่อนกฎหมายจะเข้าสภา พอปี 2539-40 ผมก็เป็นกรรมาธิการพิจารณกฎหมายในสภาผู้แทน กฎหมายออกปี 2542 จนปี 2544 ถึงลาออก

เราคลุกอยู่กับเรื่องพวกนี้จนอิ่มแล้ว คือมันเป็นธรรมชาติของคนอิ่มตัว แล้วก็ตั้งใจว่า ตอนลาออกอายุราชการ 23 ปีนะเกือบ 25 ปีแล้วนะ เลยลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ขอนแก่น เป็นการเลือกตั้งปี 2544 เขาเลือกตั้งซ่อมผู้ว่าฯ กวี สุภธีระ ที่ถูกใบแดง ก็ลงเลือกตั้งชิมลางดู ได้ 5 หมื่น 4 พันกว่าคะแนน เยอะเหมือนกันนะ แต่คนชนะนั่นได้แสน อดีตนายก อบจ. เราได้ 5หมื่น 4 ก็โอเค ตอนนี้ก็เริ่มวนเข้ามาดูเรื่องของกองทุน มาเต็มตัวเลย เรื่องกระบวนการเลือกตั้ง ส่งตัวแทนเลือกตั้ง เป็นเหมือนกุนซือ”

คุณสไกร เล่าต่อว่า ตัวเขาได้รับเลือกเป็นผู้แทนกรกรรมการ (กองทุนฯ) ภาคอีสานอยู่ 2 สมัย พอมาในปี 2554 มีการเปิดรับสมัครรองเลขาธิการกองทุนฯ ก็เข้ามาสมัครก็ได้รับเลือก ก็ทำหน้าที่นี้จนมาถึงปัจจุบัน จนได้มารักษาการในตำแหน่งเลขาธิการด้วยเมื่อปี 2561

ด้านการทำงานที่กองทุนฯ คุณสไกร บอกว่าท โดยส่วนตัวไม่อยากให้กองทุนฯ มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ในหลักทำงาน ในปรัชญาไม่อยากให้พนักงานกองทุนฯ คิดว่าตัวเองเป็นราชการ อยากให้มีใจเพื่อที่จะให้บริการ สมกับเจตนารมณ์ที่ว่าเราจะให้กองทุนฯ เป็นหน่วยงานให้การบริการ อันที่ 2 ภายใต้ข้อแรก การทำงานของกองทุนฯ ต้องกระชับต้องเร็วกว่านี้ อยากเห็นกองทุนเป็นกลไกให้เกษตรกรรายย่อย โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสได้เดินเข้าสู่การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เกษตรกรควรจะได้รับความยุติธรรม          

“ผมถูกปลูกฝังตั้งแต่เด็ก กินข้าวเหลือ ข้าวจะให้ผมเททิ้ง ผมอยู่วัด ผมทำไมได้ ข้าวเหลือก็ผึ่ง ไม่ได้เทใส่ถุง อย่างน้อยก็เทให้หมาให้นกกิน นั่นคือสามัญสำนึกที่ผมมี แล้วพอมาเป็นผู้บริหาร เราเห็นเด็กกินทิ้งกินขว้าง เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ มันเป็นจิตสำนึกของคนไทยคนหนึ่งซึ่งถูกปลูกฝังภายใต้สังคม ก็อยากจะเห็นตัวนี้ ให้บุคลากรของเรามีน้ำใจเหมือนที่เราอยู่กับเกษตรกร ตอนผมเป็นผู้แทนเป็นกรรมการ ลงไปหาชาวบ้าน ไปที่บ้านไหน ค้างคืนฟรี กินข้าวฟรี ดูแลอะไรทั้งหมด เขาดูแลหมด นี่คือความมีน้ำใจ สิ่งเหล่านี้อยากให้เกิด ถือว่าเป็นสังคมไทย อยากดึงตรรกะนี้กลับมาให้ได้ อยากจะปลูกฝังให้มันเกิด โดยอาศัยงานกิจกรรมที่กองทุนฟื้นฟูสร้างเป็นที่รองรับมรดกทางวัฒนธรรม นี่คือทุกสิ่งที่อยากให้เกิดจริงๆ”

ท้ายสุด คุณสไกร ให้แนวคิดในการทำงานที่ผ่านมาว่า ผมถือคติ ถ้างานไม่ได้ก็คือไม่ได้ ขยับก็ต้องขยับ คือความเป็นครูมันดีอย่างเวลาเราอยู่กับเด็กนี่ กับลูกศิษย์เรานี่เรามองว่าเท่ากัน ไม่ได้แยกว่าคนนั้นสนิทหรือไม่สนิท เราก็มองแบบนี้ เอาวิชาครูมามองคน แล้วผมเสียอย่างหนึ่งก็คือ ผมเป็นคนเสียงดัง แล้วพูดจบก็คือจบเลย ก็เหมือนสอนลูกศิษย์ สไตล์ออกนักเลงนิดๆ น่ะ ใช่คือใช่ ไม่ใช่คือไม่ใช่ แต่ไม่ได้ถือเอาอารมณ์ที่โกรธไปผูกใจเจ็บนะ เหมือนเราสอนเด็ก ออกจากห้อง ก็คือจบ นี่เหมือนกัน เอามาใช้ที่กองทุนนี้ได้

หนังสือพิมพ์ OPT NEWS ONLINE
วันที่ 16 - 30 เมษายน 2567
อปท.เชิญเป็นแขก ดูทั้งหมด
27 ธ.ค. 2566
แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางการแพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละตนเองเพื่อผู้อื่น ไม่เพียงต้องดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักการทางการแพทย์เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจและเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยอย่างแท้จริงอีกด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะทำงานอาชีพนี้ ต้องมีหัวใจและอุดมการณ์ที่มีความเสียส...